Natural Convection RFCA
ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmia) เป็นปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อยในประเทศไทย ข้อมูลจากปี พ.ศ. 2562 ระบุว่ามีผู้ป่วยประมาณ 1.5 ล้านคนที่ประสบกับภาวะนี้ (กรุงเทพธุรกิจ, 2562) นอกจากนี้ การสำรวจพบว่าในประชากรไทย 1,000 คน จะพบผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะประมาณ 40 คน (คลินิกหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรงพยาบาลกรุงเทพ) โดยพบว่าอุบัติการณ์ของโรคนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามอายุ โดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เกิดจากความผิดปกติของสัญญาณไฟฟ้าในหัวใจ ซึ่งอาจเกิดจากภาวะหัวใจเสื่อม เช่น โรคหัวใจขาดเลือดหรือหัวใจโต ความไม่สมดุลของอิเล็กโทรไลต์ ผลข้างเคียงจากยา สารกระตุ้น เช่น คาเฟอีนและแอลกอฮอล์ หรือความเครียดและโรคประจำตัว เช่น ไทรอยด์เป็นพิษ วิธีการรักษามีหลายทางเลือก ได้แก่ การใช้ไฟฟ้ากระตุ้นหัวใจ (Cardioversion) การฝังอุปกรณ์ช่วยหัวใจ เช่น Pacemaker หรือ ICD และการจี้ไฟฟ้าหัวใจด้วยคลื่นความถี่วิทยุ (Radiofrequency Cardiac Ablation: RFCA) การรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะด้วยการจี้ไฟฟ้าหัวใจด้วยคลื่นความถี่วิทยุ เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมในประเทศไทย เนื่องจากมีประสิทธิภาพสูง และสามารถแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด เนื่องจากสามารถใช้พลังงานวิทยุส่งเข้าไปทำลายเนื้อเยื่อในบริเวณจุดที่ทำงานผิดปกติได้อย่างเฉพาะเจาะจง โดยมีโอกาสหายขาดถึง 98% (ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลเวชธานี) หากได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม จากรายงานทางการแพทย์พบว่า ยังมีโอกาสที่ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะจะกลับมาเป็นซ้ำประมาณ 2-10% หลังการรักษา (โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์, 2563) ดังนั้น การพัฒนาอิเล็กโทรดคลื่นความถี่วิทยุให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากอิเล็กโทรดที่มีประสิทธิภาพสูงสามารถเพิ่มความแม่นยำในการทำลายเนื้อเยื่อที่เป็นสาเหตุของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ลดความเสี่ยงของการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อปกติ และลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำของโรค นอกจากนี้ การพัฒนาอิเล็กโทรดที่สามารถควบคุมอุณหภูมิและพลังงานได้อย่างเหมาะสมยังช่วยลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อน เช่น การเกิดฟองไอน้ำ (Steam Pop) ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจทะลุหรือการเกิดลิ่มเลือดที่เกิดจากการผ่าตัด การลงทุนในการวิจัยและพัฒนาอิเล็กโทรดสำหรับการจี้ไฟฟ้าหัวใจด้วยคลื่นความถี่วิทยุจึงมีผลกระทบเชิงบวกอย่างมากต่อประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะในประเทศไทย Natural Convection Effects on Heat Transfer in a Porous Tissue in 3-D Radiofrequency Cardiac Ablation ศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของการพาความร้อนตามธรรมชาติ (Natural Convection) ต่อการถ่ายเทความร้อนในเนื้อเยื่อพรุน (Porous medium) ในกระบวนการจี้ไฟฟ้าหัวใจด้วยคลื่นความถี่วิทยุแบบสามมิติ การจี้ไฟฟ้าหัวใจด้วยคลื่นความถี่วิทยุ (Radiofrequency Cardiac Ablation: RFCA) เป็นกระบวนการที่ใช้พลังงานไฟฟ้าคลื่นความถี่สูงเพื่อทำลายเส้นทางการนำสัญญาณไฟฟ้าที่ผิดปกติภายในหัวใจ เพื่อรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ความสำเร็จของกระบวนการนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถในการควบคุมอุณหภูมิของเนื้อเยื่อและลดความเสี่ยงของภาวะ Steam Pop (การเกิดฟองไอน้ำจากการเดือดของเลือด) ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะหัวใจทะลุหรือลิ่มเลือดอุดตัน ในการศึกษานี้ ได้พัฒนาแบบจำลองเชิงตัวเลขแบบสามมิติของ RFCA โดยใช้ทฤษฎีของ Porous Media ซึ่งรวมเอาผลของ การพาความร้อนตามธรรมชาติ (Natural Convection)เข้าไปด้วย เพื่อให้ได้แบบจำลองที่มีความแม่นยำสูงขึ้น กระบวนการจำลอง แบบจำลองนี้จำลองกระบวนการ (1) การไหลของเลือด (2) การถ่ายเทความร้อน และ (3) การให้ความร้อนด้วยความต้านทานไฟฟ้า โดยใช้เนื้อเยื่อหัวใจเป็น Porous Medium ที่จำลองการไหลของเลือดผ่านเส้นเลือดฝอยเล็กๆในเยื้อเยื่อ กระบวนการจี้ไฟฟ้าใช้ กระแสไฟฟ้าคลื่นความถี่วิทยุ (RF) ซึ่งถูกแปลงเป็นพลังงานความร้อนโดยใช้สมการทางไฟฟ้าในการคำนวณการกระจายตัวของสนามไฟฟ้าและการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิของเนื้อเยื่อ แบบจำลองทางความร้อนและการไหลของเลือด โดยใช้สมการ Darcy-Brinkman Navier-Stokes เพื่อจำลองการไหลของเลือดในเนื้อเยื่อพรุนของกล้ามเนื้อหัวใจ โดยรวมผลของ การพาความร้อนตามธรรมชาติ (Natural Convection) เพื่อคำนวณผลกระทบของแรงลอยตัวของเลือดอุ่นที่เกิดจากความแตกต่างของอุณหภูมิ การเทียบผลระหว่างทฤษฎี Pennes Bioheat Transfer และ ทฤษฎี porous media ในการคำนวณการกระจายของความร้อนในเนื้อเยื่อและการไหลของเลือด รวมถึงการจำลอง Steam Pop ผลการทดลองและการวิเคราะห์ การเปรียบเทียบแบบจำลอง Bioheat กับแบบจำลอง Porous Media ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่าแบบจำลองที่ใช้แนวคิด Porous Media สามารถจำลองการไหลของเลือดและการกระจายตัวของความร้อนได้ดีกว่าแบบจำลอง Bioheat Equation เนื่องจากสามารถพิจารณาการไหลของเลือดในรูพรุนได้อย่างแม่นยำ และรวมผลที่เกิดจากการพาตวามร้อนที่เกิดขึ้นจากการไหลของเลือดในเนื้อเยื่อที่ไม่เท่ากันในแต่ละแนวแกน ส่งผลให้แนวคิด Porous Media สามารถคำนวณอุณหภูมิได้ใกล้เคียงกับค่าจริงมากกว่า อิทธิพลของการพาความร้อนตามธรรมชาติ (Natural Convection) เมื่อไม่รวมผลของการพาความร้อนตามธรรมชาติ: อุณหภูมิในบริเวณรอบหัววัดจี้ไฟฟ้ามีการกระจายตัวที่ไม่สม่ำเสมอ และความร้อนสะสมอยู่บริเวณรอบขั้วไฟฟ้า แต่เมื่อรวมผลของการพาความร้อนตามธรรมชาติ: การไหลของเลือดมีการหมุนเวียนที่ดีขึ้น ทำให้เกิดการกระจายความร้อนที่สม่ำเสมอขึ้น และช่วยลดอุณหภูมิสูงสุดที่อาจนำไปสู่ภาวะการเกิด Steam Pop อิทธิพลต่อภาวะ Steam Pop ระยะเริ่มต้น (10-25 วินาที): การพาความร้อนตามธรรมชาติช่วยลดโอกาสเกิด Steam Pop โดยกระจายอุณหภูมิที่สูงออกไปจากจุดที่ทำการจี้ไฟฟ้า เมื่อระยะเวลาผ่านไปนานขึ้น (40-60 วินาที): แม้ว่าการพาความร้อนตามธรรมชาติจะช่วยลดอุณหภูมิสูงสุดในบริเวณที่ทำการจี้ไฟฟ้า แต่กลับส่งผลให้พื้นที่ที่มีอุณหภูมิสูงขยายตัวกว้างขึ้น ทำให้มีโอกาสเกิด Steam Pop มากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป สรุป แบบจำลอง Porous Media สามารถอธิบายการถ่ายเทความร้อนและการไหลของเลือดได้อย่างแม่นยำมากกว่าแบบจำลอง Bioheat Equation การพาความร้อนตามธรรมชาติ (Natural Convection) มีผลสำคัญต่อการกระจายอุณหภูมิในกระบวนการจี้ไฟฟ้า โดยช่วยลดอุณหภูมิสูงสุดในช่วงแรก แต่สามารถเพิ่มขนาดของบริเวณที่มีความร้อนสูงในช่วงหลัง การใช้แบบจำลองนี้สามารถช่วยเพิ่มความแม่นยำของการจำลองทางคอมพิวเตอร์ในกระบวนการ RFCA ซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อน และช่วยในการออกแบบหัววัดจี้ไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น